อากาศร้อนระวังโรคลมแดด(ฮีตสโตรก)

เตือน ประชาชน ร่างกายปรับตัวไม่ทัน

          สภาพอากาศร้อนจัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนถึงขั้นมีรายงานทั้งคนและสัตว์ ตายเป็นจำนวนมากผิดปกติเกิดจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ หรือปรากฏการณ์ "คลื่นความร้อน" หรือ "ฮีตเวฟ" หลายพื้นที่ในประเทศไทยอุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 40 องศา ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
          
          โรค ที่เกิดจากความร้อน ซึ่งต้องทำความรู้จักให้ดีในช่วงนี้ คือโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) อันเป็นภาวะผิดปกติรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายได้ทัน อุณหภูมิร่างกายของคนปกติทั่วไปจะอยู่ที่ 36-37 องศา ร่างกายสามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่เย็นเกินไป หรือร้อนเกินไป หากร้อนจัด เย็นจัด ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

          ฮีตสโตรกเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน จนไม่สามารถระบายความร้อนนั้นได้ ปกติกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น

          น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย ในร่างกายมนุษย์จะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 80 อยู่ในอวัยวะต่างๆ ทั้งสมอง หัวใจ ไต การขาดน้ำจะทำให้ร่างกายทำงานได้แย่ลง ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย เมื่อร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ อุณหภูมิร่างกายก็จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเพิ่มขึ้นถึง 40 องศา ถือว่าเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน จากการเก็บสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าทำให้เกิดอัตราเสี่ยงเสียชีวิตถึงร้อยละ 17-70

โรคฮีตสโตรกแบ่ง ตามสาเหตุการเกิดโรคออกเป็น 2 ประเภท คือ

          1. เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไป ส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คืออุณหภูมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อออก

          2. เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและ นักกีฬา อาการคล้ายกับสาเหตุแรก แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออก นอกจากนี้ ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง แคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย

ข้อแนะนำการ ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด ได้แก่

          1. ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

          2. ให้ดื่มน้ำมากๆ

          3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง

          4. หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัว และลดความร้อนของร่างกาย

          5. หากมีอาการของโรคลมแดด คือกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ถ้ายังมีสติให้ดื่มน้ำ พยายามลดอุณภูมิด้วยการเช็ดตัว อยู่ในที่ร่ม หากหมดสติให้ช่วยเช็ดตัวและรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้ได้การรักษาที่ทันท่วงที 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น