แนะควรต้มน้ำก่อนบริโภค

กปน.เผยน้ำจากเมืองเอกไหลทะลักเข้าคลองประปาแล้ว ยันยังไม่พบสารพิษและเชื้อโรคในน้ำ แนะ ปชช.ต้มก่อนบริโภค...

นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการประปานครหลวง กระทรวงมหาดไทยเปิด เผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค.น้ำจากเมืองเอก ที่มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหลบ่าท่วมเข้าคลองประปา เป็นช่วงๆ ตั้งแต่ไซฟอนรังสิตถึงแยกสรงประภา ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ กปน. ได้แก้ปัญหาโดยร่วมมือกับ กทม. เร่งระบายน้ำทิ้งลงคลองบางเขน บางซื่อ สามเสน แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทันกับปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้าคลองประปา ซึ่งคาดว่า อาจจะทำให้พื้นที่ชุมชนข้างคลองประปาต้องประสบน้ำท่วมตามมาอีก
ทั้งนี้ กปน. ได้ร่วมมือกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองพล ปตอ. กรมชลประทานและกรมเจ้าท่า ระดมเรือขุด พร้อมทั้งขอความร่วมมือการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งระบบไฟแสงส่างให้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำแนวคันกั้นดินเสริมตลอด 24ชั่วโมง เพื่อกั้นน้ำไม่ให้หลากเข้าคลองประปา และยืนยันว่า กปน. จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ สู้กับน้ำท่วมครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันแนวคลองประปา และรักษาระบบผลิตน้ำเพื่อจ่ายน้ำให้กับประชาชนต่อไป
นายเจริญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณภาพน้ำในขณะนี้ กปน. ได้เร่งหาวิธีแก้ไขอยู่ตลอดเวลา โดยการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เพิ่มคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค เพิ่มการใช้ด่างทันทิมและถ่านกัมมันต์ เพื่อดูดสีและกลิ่นในน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกวัน

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ยังไม่พบเชื้อ อี.โคไล และเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ไม่พบสารพิษ โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคทเมียม โครเมียม ปรอท สารหนู ยกเว้นสีและกลิ่น แต่เพื่อความมั่นใจในช่วงนี้ จึงขอให้ประชาชนต้มน้ำก่อนบริโภค


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

น้ำท่วมเสี่ยงอหิวาห์จี้อพยพกาชาดขาดแคลนเลือด

สธ.-กทม.ผวาโรคระบาดทางน้ำ สั่งกรมอนามัยแก้น้ำเน่า-ขยะ-สิ่งแวดล้อม วอนอพยพพ้นพื้นที่น้ำท่วม ชี้เสี่ยงเป็นอหิวาตกโรค สภากาชาดไทยขาดแคลนเลือด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใน ฐานะกำกับดูแลสำนักการแพทย์ กทม. แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขาภิบาล ที่ขณะนี้มีขยะตกค้างในพื้นที่น้ำท่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เขตบางพลัดมีการเก็บขยะไปแล้ว 33 ตัน ส่วนขยะปฏิกูล กทม.ได้แจกถุงดำให้ประชาชนไว้ขับถ่าย และนำมาทิ้งที่ถังขยะปฏิกูลที่กทม.จัดวางไว้
ส่วนปัญหาสภาพน้ำเน่า กทม.ได้นำผงแบคทีเรีย หรือ EM (Effective Microorganisms) ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ นำไปโรยบริเวณที่มีน้ำเน่า เพื่อปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันได้ตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในเขตบางพลัด บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 ส่วนในเขตทวีวัฒนา ในบริเวณสมาคมชาวปักษ์ใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายยาให้กับผู้ประสบภัย

"ขณะนี้ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่อพยพออกจากพื้นที่ จากที่กทม.ได้ประกาศให้ 7 เขตเป็นพื้นที่อพยพ โดยเฉพาะเขตบางพลัดยังมีประชาชนอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก หากประชาชนในเขตต่างๆยังตัดสินใจอยู่ในพื้นที่ต่อไป อาจมีความเสี่ยงกับโรคระบาดที่มาทางน้ำ ได้แก่ โรคตาแดง ท้องเดิน ไข้หวัด และไข้เลือดออก ซึ่งโรคที่น่ากลัวที่สุดคือโรคอหิวาตกโรค เพราะจะนำไปสู่ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอหิวาตกโรคจะติดต่อจากทางอาหารและน้ำดื่ม ดังนั้นขอให้ประชาชนคิดให้มากๆในเรื่องอพยพ เพราะหากติดโรคแล้วอาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และเมื่อนั้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้นตามไปด้วย" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

วันเดียวกัน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมหรือวิดีโอยคอนเฟอ เรนซ์ กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่า การประชุมวันนี้ยังคงเน้นย้ำเรื่องการรับมือเช่นเดิม คือ ขอให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเตรียมพร้อมในทุกด้าน ทั้งเรื่องการป้องกันน้ำหลากเข้าท่วม การสำรองยาและเวชภัณฑ์ และการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้ปลอดภัย รวมทั้งการฟื้นโครงการผลิตน้ำเกลือใช้เอง เนื่องจากคาดว่าน้ำเกลืออาจขาดตลาด โดยเฉพาะสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่เพิ่งเริ่มท่วม คือ จ.นครปฐม และจ.สมุทรสาคร ได้มีการประสานเรื่องการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งนี้เชื่อว่าหากน้ำท่วมไม่เกิน 50 ซม. จะสามารถรับมือได้

รมว.สาธารณสุขกล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอของบประมาณส่วนกลางเพื่อดำเนินการแก้ไข ปัญหาและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมไปแล้ว 109 ล้านบาท ทราบว่างบประมาณจะจัดสรรมาถึงในวันที่ 2 พฤศจิกายนจึงอยากให้กรมต่างๆดำเนินงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การแก้ปัญหาและติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกรมอนามัยอยากให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำเน่า และจัดการขยะ รวมถึงอนามัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในศูนย์พักพิงและพื้นที่น้ำท่วมขังด้วย เพราะเกรงว่าจะเกิดโรคระบาด เช่น ไข้เลือดออก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ที่เป็นชุมชนซึ่งมีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น หากเป็นพื้นที่ท่วมขังอาจเสี่ยงต่อการเกิดพาหะนำโรค

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสำรองยาและเวชภัณฑ์ วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เตรียมหารือกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า จำเป็นต้องนำเข้ายาและเวชภัณฑ์เพิ่มหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้จะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังภูมิภาคเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องกระจายยาและเวชภัณฑ์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทุกแห่งอย่าเพิ่งกักตุนยาให้มากนัก หากมีเพียงพอก็ขอความร่วมมือในการสนับสนุนก่อนเพื่อจะได้อำนวยความสะดวกใน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

ด้าน พญ.สร้อยสอางค์ สร้อยพิกุดสด ผู้อำนวนการกองบริจาคโลหิต สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้สภากาชาดไทยประสบปัญหาขาดแคลนเลือดที่ประชาชนบริจาค เนื่องจาก 2 สาเหตุหลักคือ 1. ในช่วงเดือนตุลาคม นิสิต นักศึกษาที่เป็นผู้บริจาคส่วนใหญ่ปิดเทอม ทำให้การบริจาคเลือดจากคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลง และ 2.สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ผู้บริจารไม่สามารถเดินทางมาบริจาคเลือดได้ เหมือนเดิม  อีกทั้งก่องบริจาคโลหิตที่มีหน่วยออกไปรับบริจาคไม่สามารถเข้าไปรับบริจาคได้

ศ.คลินิก พ.ธีระวัฒน์ กุลทันทน์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในที่ประชุมหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รพ.ศิริราช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้วางแผนเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและบุคลากร โดยมีผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือมาร่วมชี้แจงการเคลื่อนย้าย หากสถานการณ์น้ำสูง 1 เมตร จะย้ายทางเรือ ทั้งหมด  4 ท่า คือท่าพรานนก ท่าศิริราช ท่ารถไฟ และท่าริมคลองบางกอกน้อย ไปยัง รพ.ศูนย์สิริกิติ์ รพ.หัวหิน รพ.ราชบุรี รพ.หหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โดยสรุปยอดผู้ป่วยวันนี้ 738 ราย ผู้ป่วยหนัก 352 ราย ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ 98 รายผู้ป่วยธรรมดา 288 ราย
        

ที่มา :หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

น้ำท่วมทำคนเครียดทะลุแสน

สธ.เผยจากปัญหาภัยน้ำท่วมพบผู้ ประสบภัยมีความเครียดทะลุแสนราย เสี่ยงฆ่าตัวตายอีกเฉียดพันราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 1,575 ราย ให้ยาคลายกังวล 4,943 ราย
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่น้ำท่วมทุก จังหวัด จนถึงปัจจุบัน พบผู้เจ็บป่วยแล้วประมาณ 1.3 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผลการตรวจสุขภาพจิตใน 37 จังหวัดพบมีความเครียด 110,860 ราย เครียดระดับสูง 5,616 ราย ซึมเศร้า 6,692 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 998 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 1,575 ราย ให้ยาคลายกังวล 4,943 ราย

ในส่วนของ กทม.จากการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุก 8 ทีม ไปบริการที่เขตทวีวัฒนา สายไหม และบางพลัด มีประชาชนเจ็บป่วยประมาณ 800 ราย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังส่ง อสม. 11,856 คน ไปปฏิบัติงานดูแลฟื้นฟูสุขภาพ และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมผู้ประสบภัยที่อยู่ในศูนย์พักพิงต่างๆ จำนวน 216 แห่ง ให้บริการไปแล้ว 82,821 ราย


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก