เตือนกินเจ-ระวัง "สารฟอกขาว"


เตือนไปยังประชาชนที่บริโภคอาหาร เจ ว่าขอให้ดูรายละเอียดของอาหารด้วย เพราะส่วนผสมของอาหารเจ ไม่ว่าจะเป็น หน่อไม้จีน เยื่อไผ่ และผักแห้งหลายอย่าง มีส่วนผสมของสารฟอกขาวอยู่ ซึ่งถ้าล้างไม่สะอาดหรือแค่แช่น้ำอย่างเดียว สารฟอกขาวจะไม่ออกทั้งหมด
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบอาหารเจปลอมว่า ในแง่ของบทลงโทษต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง แต่เราคงไม่ได้มุ่งมั่นไปกล่าวโทษกับผู้ประกอบการ เพียงแต่ต้องมีการกล่าวตักเตือน เพื่อให้มีจิตสำนึกในการดูแลส่วนผสมและคุณภาพอาหารของประชาชนที่ร่วมถือศีล กินเจ ทั้งนี้ตนจะออกหน่วยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจตราคุณค่าทางอาหาร สารปนเปื้อน และสารตกค้างในอาหารเจให้มากขึ้น
รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า จึงขอเตือนไปยังประชาชนที่บริโภคอาหารเจ ว่าขอให้ดูรายละเอียดของอาหารด้วย เพราะส่วนผสมของอาหารเจ ไม่ว่าจะเป็น หน่อไม้จีน เยื่อไผ่ และผักแห้งหลายอย่าง มีส่วนผสมของสารฟอกขาวอยู่ ซึ่งถ้าล้างไม่สะอาดหรือแค่แช่น้ำอย่างเดียว สารฟอกขาวจะไม่ออกทั้งหมด หรือถ้าล้างนานเกินไป คุณค่าทางอาหารก็จะหายไปด้วย จึงอยากให้ประชาชนใส่ใจรายละเอียดเหล่านี้ เพราะอยากให้ประชาชนอิ่มบุญ กินเจอย่างมีความสุข และถูกอนามัย


ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

แอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพ

เครื่องมือทางสุขภาพออนไลน์
1. ประเด็นสุขภาพที่โลกกำลังจับตามอง (Global spotlight on health) หรือแนวโน้มงานการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion Trends)


แอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพ
การส่งข้อความทางด้านสุขภาพผ่านมือถือก็ยังเป็นตัวกำหนดค่าที่ราคาถูกที่สุดที่หาได้โดยทั่วไป

รายละเอียด
ปัจจุบันนี้มีแอพพลิเคชั่น มากกว่า 250, 000 แอพฯ ที่พร้อมใช้สำหรับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนอย่างไอโฟนและมีมากกว่า 30, 000 แอพฯ สำหรับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และอีกหลายพันแอพฯ สำหรับอุปกรณ์แบล็กเบอร์รี่

แอพฯ ที่ใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตามตัว ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแนวโน้มใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นสำหรับภาคการดูแลรักษาสุขภาพ แต่คำถามก็คือ เราถึงขั้นนั้นกันหรือยัง? ตามการสำรวจของโครงการที่มีชื่อว่า Pew Internet and American Life Project พบว่าร้อยละ 17 ของผู้ใช้โทรศัพท์ติดตามตัว ได้ใช้โทรศัพท์ของพวกเขาเพื่อค้นหาข้อมูลทางการแพทย์หรือข้อมูลทางสุขภาพ แต่มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีแอพพลิเคชั่นซอฟท์แวร์บนมือถือที่ช่วยพวกเขาในการสืบย้อนหรือ จัดการสุขภาพ

สำหรับการส่งข้อความสั้น ๆ หรือเอสเอ็มเอส (SMS) นั้นไม่ได้ต้องการการครอบครองสมาร์ทโฟน หรือต้องดาวน์โหลดแอพฯ หรือการเรียนรู้อะไรมากมายเลย มันเกือบจะใช้ได้กับโทรศัพท์ทุกเครื่องและกับทุกคน รวมไปถึงคนรุ่น ปู่ รุ่นย่าสามารถศึกษาวิธีการทำงานของมันได้  ดังนั้นแม้ในขณะที่แอพฯ สุขภาพในโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตามตัวจะดำเนินวิวัฒน์ต่อไปและกลายเป็นสิ่ง ยอดนิยมมากขึ้น  การส่งข้อความทางด้านสุขภาพผ่านมือถือก็ยังเป็นตัวกำหนดค่าที่ราคาถูกที่ สุดที่หาได้โดยทั่วไป

2. ออนไลน์คอร์ส (Health Promotion on-line course)


ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านวิดีโอหรือเสียงออดิโอ บนเว็บไซท์อินเตอร์เน็ตที่กำลังเปิดอยู่ได้เลย โดยไม่ต้องทำการต่อผ่านเครื่องมืออื่นๆ แต่อย่างใด

รายละเอียด
เป็นชั้นเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยยูทาห์  (University of Utah) โดยผู้เรียนสามารถเรียนผ่านวิดีโอหรือเสียงออดิโอ บนเว็บไซท์อินเตอร์เน็ตที่กำลังเปิดอยู่ได้เลย โดยไม่ต้องทำการต่อผ่านเครื่องมืออื่น ๆ แต่อย่างใด มีทั้งภาพกราฟฟิก วิดีโอ เสียงออดิโอ การนำเสนอแบบ พาวเวอร์พอยท์ การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าช่วยจะทำให้กระบวนการเรียนรู้น่าสนใจและมีชีวิต ชีวามากขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นนักฝึกอบรมก็สามารถเข้าไปใช้บทเรียนเหล่านี้เป็นสื่อในการ เรียนการสอนได้ด้วย

ประเด็นต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ เช่น อาการแพ้และพิษจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย การจัดการโรคหืดหอบและการ รักษา เลือดออก ภาวะฉุกเฉินของโรคเบาหวาน การจัดทำเอกสาร การดำเนิน ชีวิต/ไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ ฯลฯ  

ที่มา :สำนักต่างประเทศ สสส.

อารมณ์เหวี่ยง 'สาวออฟฟิศ' ต้นเหตุโรคทำลายสุขภาพ

จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลเผยให้ ทราบว่า อาชีพสาวออฟฟิศ ถือเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดความเครียดและอารมณ์เหวี่ยงในผู้หญิงติดอันดับ หนึ่ง ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลสมาชิกในครอบครัว ประกอบกับการที่ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งปัจจัยภายในที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนก่อนมีประจำ เดือน 5 วัน หรือที่เรียกกันว่า PMS ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงออฟฟิศ เกิดความเครียดและมีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย



ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วงอายุ 25-35 ปีนั้น เป็นวัยที่สาวๆ ออฟฟิศมักตกอยู่ในความเครียดมากที่สุด ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ 

1. ควรหาเวลาออกกำลังกาย เพราะการออก กำลังกายนั้นจะช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟีน หรือสารแห่งความสุขออกมา และเมื่อสารเหล่านี้ถูกหลั่งออกมา ก็จะสามารถขจัดอารมณ์เครียดหรือฉุนเฉียวลงได้
2. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยได้เช่นกัน
3. การรับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ หรือรับประทานสมุนไพรบางชนิด เช่น แปะก๊วย หรือน้ำมันดอกอีฟนิงพริมโรสและวิตามินบี หากรับประทานผักผลไม้และสมุนไพรยังไม่ได้ผล คุณหมอแนะนำว่า ควรรับประทานยาปรับฮอร์โมน ซึ่งยาดังกล่าวช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย แต่หากอาการรุนแรงและส่งผลต่อคนรอบข้าง อาจต้องรับประทานยาลดความวิตกกังวล (อยู่ในการพิจารณาของแพทย์)
4. การหลีกเลี่ยงจากสภาพที่ ทำให้เกิดความเครียดก็สามารถช่วยได้
นอกจากวิธีที่กล่าวมานั้น คุณหมอแนะนำว่า การปรับสภาพแวดล้อมภายในที่ทำงาน ก็สามารถลดความเครียดและอารมณ์ฉุนเฉียวลงได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าสาวออฟฟิศมักถูกจำกัดด้วยเวลาที่เร่งรีบ และมีพื้นที่ในการทำงานที่ค่อนข้างแคบ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนที่ทำงานให้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย รวมถึงเน้นการ สื่อสารในที่ทำงานด้วยการพูดคุยกันให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดการขัดแย้งหรือข้อผิดพลาดในการทำงานลงได้
และที่สำคัญการจัดเวลาของการทำงานให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ก็เป็นอีกหนทางในการลดความเครียดลงได้ เพราะระยะของการทำงานที่พอดีจะช่วยให้ผู้ทำงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ ว่าไม่เหนื่อยและไม่เร่งรีบมากจนเกินไปก็จะไม่เกิดความเครียดนั่นเอง
คุณหมอกล่าวย้ำว่า หากปล่อยอารมณ์เครียดและอารมณ์เหวี่ยงเอาไว้จะส่งผลกระทบต่อตนเอง โดยเฉพาะด้านจิตใจของตัวผู้เครียดเอง และอาจทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หมดกำลังใจในการทำงานได้ รวมถึงกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อยากปฏิสัมพันธ์หรือพบปะพูดคุยด้วย ขณะเดียวกันก็จะส่งผล กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อันอาจจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และเป็นต้นเหตุของการหย่าร้างได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวเรื้อรัง โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดต่างๆ ได้


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

กรมควบคุมโรคแนะระวังโรคจากน้ำท่วม



นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเกิดอุทกภัยได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การจมน้ำ บาดเจ็บ สัตว์มีพิษกัด และบาดแผลติดเชื้อ หอบหืดเฉียบพลัน น้ำกัดเท้าและผื่นคัน และจากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดการระบาด ของโรคติดต่อทั้งในระยะที่เกิด น้ำท่วมและภายหลังน้ำท่วม โดยโรคติดต่อที่มักจะระบาดในระยะที่เกิดน้ำท่วมคือโรคทางเดินอาหารและโรค หวัด โรคตาแดง และระยะหลังน้ำท่วมโรคติดต่อที่ระบาดคือโรคติดต่อนำโดยแมลง โรคเลปโตสไปโรซิส โรคไข้เลือดออก โรคหัด และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจพบการระบาดของโรคเหล่านี้ภายหลังน้ำท่วมนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยพบว่าโรคเลปโตสไปโรซิสและโรคตาแดงจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง ของการเกิดอุทกภัย

ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้ตั้งระบบเฝ้าระวังโรคในภาวะอุทกภัยขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทราบความรุนแรงของปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนใน พื้นที่เกิดอุทกภัย สามารถตรวจสอบการระบาดและติดตามแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่สำคัญ เพื่อเตรียมการป้องกันควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและเหมาะสม มีความยืดหยุ่น และเฉพาะเจาะจงสำหรับเหตุการณ์และพื้นที่ โดยใช้ 6 กิจกรรมหลักในการเฝ้าระวังโรค ได้แก่ 1.การวินิจฉัย 2.การรายงานผู้ป่วย 3.การยืนยันโรค 4.การวิเคราะห์ข้อมูล 5.การจัดทำรายงาน 6.การส่งกลับรายงาน

และ 4 กิจกรรมสนับสนุน ได้แก่ การสื่อสาร การอบรม การนิเทศงาน และการสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งจะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังโรคที่มีโอกาสเกิดการระบาดขึ้นได้ภายหลังน้ำท่วมเพื่อป้องกัน และบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด

นพ.นานิต กล่าวแนะนำว่า ประชาชนต้องรู้จักป้องกันตนเองเพื่อความปลอดภัยจากโรคต่างๆ ด้วยการไม่ให้สัมผัสกับน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำเป็นเวลานานและควรล้างเท้าหลังย่ำน้ำ หรือหากจำเป็นควรใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ได้แก่ รองเท้าบู๊ต ป้องกันการสัมผัสน้ำสกปรก ในภาวะน้ำขังอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงวัน ควรกำจัดและลดแหล่งเพาะพันธุ์โดยเก็บขยะเปียกใส่ถุงและรัดปากถุงให้มิดชิด ดูแลสุขาภิบาลเรื่องอาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง และมีอาการตาแดงขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพื่อให้การดูแลรักษาโดยเร็ว หากมีการย่ำน้ำลุยโคลนที่มีน้ำขังต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย มีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง