'17 มาตรการ' ป้องกันอันตรายจากภัยน้ำท่วม

กรมควบคุมโรคแนะ "17 มาตรการ" ป้องกันอันตรายจากภัยน้ำท่วม ระบุสาเหตุส่วนใหญ่ของการจมน้ำเกิดจากการหมดแรงหรือการได้รับอุบัติเหตุ ชนกระทบกระแทกกับวัตถุ...

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่วิกฤติหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ ส่งผลให้ประชาชนประสบความเดือดร้อนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม และความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งอันตรายจากภัยสุขภาพจากน้ำ เช่น การตกจมน้ำ ไฟฟ้าช๊อต สัตว์มีพิษอันตราย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการจมน้ำเกิดจากการหมดแรงหรือการได้รับอุบัติเหตุ ชนกระทบกระแทกกับวัตถุ
ขณะที่มีการจมน้ำระยะแรกผู้จมน้ำจะพยายามหายใจเอาอากาศเข้าไปให้มากที่ สุด แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการสำลักน้ำเข้าไปในปอด หลังจากนั้นเกิดอาการหมดสติ ชักเกร็ง และหัวใจหยุดเต้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตผู้ประสบภัยช่วงนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สำคัญช่วงน้ำท่วมที่พบการเสียชีวิตและบาดเจ็บของ ประชาชนจำนวนมากเช่นกัน คือ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าดูด หรืออาจจะถูกเรียกอีกอย่างว่าไฟช๊อต ที่เป็นภาวะที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายมีผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง จนไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้ ปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายส่งผลทำให้เสียชีวิต หรือพิการ การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมจึง มีความเสี่ยงหลายประการจากจากภัยอันตรายต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมของผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความปลอดภัย จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

เภสัชกรเชิดเกียรติ เผยคำแนะนำมาตรการจำเป็น 17 ประการเพื่อการป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วม ดังนี้ 

1) หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำควรเตรียมตัวอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม หรือนำอุปกรณ์ประยุกต์ที่หาง่ายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา
2) ให้ระวังเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดพาหรือตกลงในบ่อน้ำลึกได้
3) อย่าพยามยามวิ่งหรือขับรถผ่านในที่มีน้ำไหลเชี่ยว
4) ควรงดการดื่มสุรา เนื่องจากทำให้ทรงตัวไม่ดีเพิ่มโอกาสลื่นล้ม พลัดตกจมน้ำ หรือ งดตัดสินใจทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น กระโดดจากสะพานลงเล่นน้ำ
5) ให้ตัดสวิทซ์กระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดหรือช็อต ขณะเกิดน้ำท่วมขัง
6) เก็บของมีค่าและจำเป็นขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม
7) จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น น้ำดื่ม ไฟฉาย ยารักษาโรคพื้นฐาน ยาโรคประจำตัว และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ
8) อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูด เน่าเสีย อาหารเป็นพิษได้ หากมีเหลือควรทิ้งใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง
9) ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังออกจากห้องน้ำ ห้องส้วมทุกครั้ง
10) ไม่ควรใช้มือขยี้ตาอาจทำให้ตาติดเชื้อ และอาจเสี่ยงเป็นโรคตาแดงได้
11) ในกรณีที่มีบาดแผล ไม่ควรเดินลุยย่ำน้ำ ย่ำโคลน ควรใส่รองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกยาวป้องกันเท้าและสวมทับด้วยถุงเท้าและ รองเท้า แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำน้ำเสร็จแล้วควรทำความสะอาดเท้าและแผลแล้วเช็ดให้แห้ง
12) กรณีมีสัตว์ป่วยตาย ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วผูกให้มิดชิด หรือนำไปฝัง เผา ไม่ควรนำทิ้งลงน้ำอาจทำให้แพร่เชื้อในกระแสน้ำเกิดโรคระบาดได้
13) ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้ชิดเพราะอาจติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้
14) สำรวจภาชนะที่มีน้ำขังให้คว่ำไว้ เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพาหนะโรคไข้เลือดออก
15) ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ และดื่มน้ำสะอาด
16) ทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้มิดชิดห้ามทิ้งลงน้ำ และสุดท้าย
17) ให้ระมัดระวังสัตว์มีพิษ กัด ต่อย พร้อมทั้งหมั่นสำรวจตรวจตราบ้าน กองผ้า ถุงใส่ของ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษหลบเข้าไปอยู่อาศัยใกล้ตัว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

หลากคำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่


กลับมาระบาดอีกครั้งสำหรับโรคไข้หวัด ใหญ่ 2009 ซึ่ง ณ วันนี้กลายเป็นหนึ่งในโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไปแล้ว และล่าสุด มีผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก

          ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งรณรงค์ให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่ม เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2010 ฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2553 ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ  โดยวัคซีน 1 เข็ม ครอบคลุมโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ชนิด B และไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ H3N2 (ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล) วันนี้กระปุกดอทคอม จึงมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2010 มาบอกกันค่ะ
 
ใครคือบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีน

          1. หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไป

          2. คนอ้วนน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป

          3. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

          4. บุคคลอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งอยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติ

          5. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

          6. เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี

          7. บุคลากรสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีก

           ทั้งนี้ สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง สามารถติดต่อสอบถามไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทั้งของรัฐบาลและเอกชนที่ให้บริการ เพื่อขอฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อวัคซีน 1 เข็มแตกต่างกันตามแต่ละโรงพยาบาล

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ คือ

          ผู้ที่มีอาการแพ้ไข่ หรือโปรตีนจากไก่ หรือไข่

          ผู้ที่เคยแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน

          ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง

          เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน

          ผู้ที่กำลังมีไข้ หรือมีการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน

          ผู้ที่มีอาการโรคประจำตัวกำเริบ ไม่สามารถควบคุมได้

          แต่หากเป็นหวัดเล็กน้อย และไม่มีไข้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้

ช่วงเวลาที่เหมาะในการฉีดวัคซีน

           ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูผล ก่อนเกิดการระบาดของโรค และช่วงก่อนฤดูหนาวในเดือนตุลาคม โดยวัคซีนนี้ต้องฉีดซ้ำทุก 1 ปี เนื่องจากแต่ละปีเชื่อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ จึงต้องมีการผลิตวัคซีนขึ้นมาใหม่ทุก ๆ ปี

วัคซีนสามารถป้องกันได้เมื่อไหร่

           หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ชนิด B และไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ H3N2 (ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล) แต่วัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ อื่น ๆ หรือโรคหวัดทั่วไปได้

อาการหลังฉีดวัคซีน

           ผู้ที่ฉีดวัคซีนบางคนอาจมีอาการบวมแดง ปวด เป็นตุ่มนูนบริเวณที่ฉีด บางคนอาจเป็นไข้ มีอาการปวดเมื่อยตามมา แต่จะหายได้เองภายใน 1-2 วัน แต่หากใครเกิดอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หายใจเสียงดัง เกิดลมพิษ หน้าซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจแพ้วัคซีนดังกล่าว

หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 มาก่อน จะฉีดวัคซีนตัวนี้ได้อีกหรือไม่

           สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ได้อีก เนื่องจากเมื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปแล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทานอยู่ได้ประมาณ 6 - 12 เดือน หากฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์เข้าไปอีก จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย

ที่มา : kapook.com

รู้ไว้ห่างไกลไข้หวัดใหญ่

รู้ไว้ห่างไกลไข้หวัดใหญ่ (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

          โรคไข้หวัด 2009 ปัจจุบันกลายมาเป็น "ไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล" แล้ว และกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาแนะนำ เพื่อให้พวกเราเฝ้าสังเกตอาการ และป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ทันท่วงทีค่ะ

โรคไข้หวัดใหญ่

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

          อยู่ในฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย
         
          ช่วงป่วย 3 วันแรก มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากสุด

เราติดเชื้อได้อย่างไร
         
          ถูกผู้ป่วยไอจามรด ในระยะ 1 ช่วงแขน
         
          จับต้องสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย เช่น โทรศัพท์ แป้นคอมพิวเตอร์ผ้าเช็ดมือ ลูกบิดประตู แล้วใช้มือมาแคะจมูกขยี้ตา จับปาก

อาการป่วย

          หลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน (มักไม่เกิน 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหลบางคนอาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย

หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่...ใครบ้างต้องรีบไปโรงพยาบาล...?

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

          ไข้สูง ไม่ลดลงภายใน 2 วัน

          ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย
         
          ซึม อ่อนเพลียมาก เด็กร้องไห้งอแงมาก
         
          กินอาหารไม่ได้ หรือกินน้อยมาก
         
          อาเจียน ท้องร่วงมาก มีภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ริมฝีปากแห้ง ตาโหล
         
          ปัสสาวะน้อย ปลายมือปลายเท้ามีสีม่วงคล้ำ

ผู้ป่วยที่เสี่ยงป่วยรุนแรง
       
          หญิงมีครรภ์ เสี่ยงป่วยรุนแรงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า
         
          ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ ไต เบาหวาน โรคเลือด มะเร็ง เอดส์ ฯลฯ
         
          ผู้พิการทางสมอง
         
          คนอ้วนมาก (น้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป)
         
          เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี
         
          ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน

อาการป่วยไม่รุนแรง คือ ไข้ไม่สูง ไม่อ่อนเพลียมาก และพอรับประทานอาหารได้

          รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) และยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

          หากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง

          เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ เช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว เช็ดบริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบข้อพับแขนขา และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกไว้ เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้าให้อบอุ่นทันที

          ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด

          รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียง

          ทำจิตใจให้สบาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และ
อากาศถ่ายเทสะดวก

           "อาการจะค่อย ๆ ทุเลา และหายป่วยภายใน 5 ถึง 7 วัน แต่...ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนักเพราะอาการอาจทรุดลงได้!"

ที่มา : kapook.com