เผยมีเพศสัมพันธ์เร็ว เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

อึ้ง!! หลังพบผู้ป่วยหญิงไทย อายุน้อยลงทุกปี

สมัยก่อนเชื่อกันว่า มะเร็งปากมดลูกจะเกิดขึ้นกับคนที่มีลูกมาก สำส่อน หรือมาจากกรรมพันธุ์ แต่ในปัจจุบันพบว่า มะเร็งปากมดลูกจะเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อ HPV

          ซึ่งเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อย การไม่ใช้ถุงยางอนามัย การไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ

          ผู้ค้นพบเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (Humain Papilloma Virus) หรือเชื้อไวรัส HPV ในมนุษย์ที่เป็น สาเหตุทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 (Nobel Prize in Medicine 2008)

          จากการค้นพบดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูก ต้อง โดยนำไปสู่การป้องกันและการรักษามะเร็งปากมดลูกที่ดีขึ้น จะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูก และลดอัตราการตายจากโรคนี้ในผู้หญิงลงอย่างมาก  

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้นำไปสู่การคิดค้นวัคซีน ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเวลาต่อมา และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ได้ร่วมบรรยาย  “Nobel Lecture: Discovery of human pa  pilloma viruses causing cervical cancer” การค้นพบไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก พร้อมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการวิจัยมะเร็งปากมดลูกของศูนย์วิจัยศึกษา และบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

          เชื้อไวรัส HPV มีอยู่มากมายหลากหลายสาย พันธุ์ จะมีอยู่ในอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งจะมีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเมื่อติดเชื้อ HPV แล้ว 80% จะหายไปเองเหลือแค่ 10% เท่านั้นที่จะติดอยู่ที่ปากมดลูก

          และเมื่อมีการติดเชื้อนาน ๆ จะทำให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูกผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งหากมีเพศสัมพันธ์เร็วก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จึงพบผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกในอายุที่น้อยลงทุกปี

          โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับ การมีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะพบมากในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยพบประมาณร้อยละ 80 ของประชากรทั่วโลก และเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 50

          ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก จัดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย โดยอยู่ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ชนิด Squamous cell carcinoma ซึ่งเป็นเซลล์ในกลุ่มเยื่อบุปากมดลูกด้านนอก พบได้ประมาณ 80%

          มะเร็งปากมดลูกเป็น โรคที่ป้องกันได้เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ การคัดกรองมะเร็งก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ โดยการป้องกันจะต้องเริ่มตั้งแต่การป้องกันแบบปฐมภูมิ เป็นการป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

          หรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปาก มดลูก ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย การคุมกำเนิดโดยการใช้ถุงยางอนามัย และการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ในคน ที่ไม่เคยติดเชื้อในสายพันธุ์ที่มีในวัคซีนมาก่อน

          ซึ่งการฉีดวัคซีนนี้จะได้ผลดีในกลุ่มอายุ 9 - 26 ปี และควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างแพง

          ส่วนการป้องกันแบบทุติยภูมิ คือการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกก่อนที่เซลล์ผิดปกติจะ เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดยการตรวจภายใน

          ซึ่งแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างมูกบริเวณรอบ ๆ ปากมดลูก โดยจะมีเซลล์ปากมดลูกปะปนออกมากับมูกนั้น และเอาไปตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ ที่เรียกว่า การตรวจทางเซลล์วิทยา ดูความผิดปกติของเซลล์ เป็นกระบวนการคัดกรองที่เรียกว่า Conventional Pap smear หรือ Liquid-based cytology

          หากตรวจพบระยะแรก ๆ ก็จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น และหากตรวจพบเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ก็จะมีการป้องกันแบบตติยภูมิ คือ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีอายุที่ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          จะเห็นได้ว่า ผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทุกคน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยจะมีการสะสมมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้สูง เพราะเชื้อไวรัส HPV จะ สะสมอยู่ในร่างกายตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก

          ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือการรณรงค์ให้ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคนมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปาก มดลูกทุกๆ ปี


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น