ติดพนันบอล ภัยร้ายที่ยังป้องกันได้

ครอบครัวต้องสังเกตและระมัดระวัง

    กระแส การแข่งขันบอลโลกที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ชักจะหวั่นว่าลูกหลาน คนใกล้ชิด จะเกาะติดกระแสนี้ในทางที่ผิด จนเป็น โรคติดพนันบอล

          นายแพทย์วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความรู้ว่า การพนันบอล เป็นพฤติกรรมการติดพนันอย่างหนึ่ง

          ในทางจิตวิทยาเรียกว่า Pathological Gambling ถึงแม้รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ผิด หรือส่งผลร้ายต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การเงิน การเรียน สุขภาพ หรือสังคมของตัวเองจะเกิดปัญหา แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะไม่ทำ คล้ายการติดสารเสพติด มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการพนันตลอดเวลา ไม่สามารถคิด หรือทำอย่างอื่น มีแต่ความโหยหาที่อยากจะเล่น ยากที่จะควบคุม ในที่สุดก็จะเล่นการพนันต่อโดยไม่มีการยั้งคิด

          พฤติกรรมพวกนี้จะคล้าย พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยในรายที่มีอาการมาก อาจต้องให้ยาลดการย้ำคิดย้ำทำ จากนั้นต้องพาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ไม่ให้มีการเล่นพนันบอล เช่น จัดค่ายให้เล่นกีฬา อย่างเต็มที่ 1-2 สัปดาห์ รวมถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการควบคุมตัวเอง หางานอดิเรกให้ทำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับครอบครัว

          สาเหตุการติดการพนันบอลของวัยรุ่นนั้น นายแพทย์วศิน ระบุว่า มี 2 สาเหตุใหญ่ คือ ประการแรก เกิดมาจากตัวของวัยรุ่นเอง เนื่องจากวัยรุ่นมักจะมีปัญหาในการควบคุมตัวเอง (Self Control) เพราะโดยปกติแล้วคนเราต้องมีการควบคุมตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้เวลาไปกับความบันเทิงเริงใจหรือกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ แต่วัยรุ่นในปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องของการควบคุมตัวเองอย่างมาก โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของตน

          สาเหตุประการที่สองคือ กระแสสังคมและการโฆษณา วัยรุ่นมักจะหลงไหลไปกับคำโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย โดยเฉพาะขณะนี้มีกระแสของการแข่งกีฬาฟุตบอลโลก โฆษณาจะชักชวนให้ร่วมชมการแข่งขัน แต่การชักชวนไม่ได้มุ่งไปในเรื่องของการเล่นกีฬาสักเท่าไหร่ แต่จะมุ่งไปในทางที่ชักชวนเล่นการพนันมากกว่าการออกกำลังกาย

          สำหรับแนวทางในการป้องกันลูกหลานจากการติดพนัน บอล นายแพทย์วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด แนะนำว่าต้องให้ความรู้ และเตือนให้เด็กรู้จักป้องกันตนเอง 

          1. ตัววัยรุ่นเองจะต้องพยายามควบคุมตัวเองและครองตนให้ดี ซึ่งหากชอบกีฬาก็ควรศึกษาเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอล ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ เกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้จากการชมกีฬาที่แท้จริง

          2. ต้องศึกษาเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หลงกลของเกมการตลาด และคำโฆษณาชวนเชื่อ 

          3. ต้องรู้จักพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องของการพนันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 
          
          4. หากมีใครชักชวนหรือท้าทาย เราต้องกล้าที่จะปฏิเสธ ไม่หลงไปเป็นเหยื่อของพวกที่มาชักชวน 

          5. ต้องเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด ไม่เห็นแก่เงิน

          6. อย่าใช้ข้ออ้างกับตัวเองว่าแค่พนันเล่นๆ เท่านั้น เพราะมันจะเกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการทำซ้ำ 
  
          7. หากเจอผู้ที่ตกอยู่ในภาวะติดการพนันไปแล้ว ให้บอกพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดของเพื่อน และพยายามดึงเขาออกมาจากพฤติกรรมนั้น 

          8. หากพบว่าตนเองเข้าข่ายติดพนันบอล ก็ต้องกล้าหาญยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และบอกคนใกล้ชิดให้ช่วยเหลือ

          โดยเฉพาะในช่วงนี้ ต้องป้องกันโอกาสเสี่ยงไว้ก่อน ซึ่งครอบครัว ครูอาจารย์ คนรอบข้างก็ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกหลานและลูกศิษย์ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า การเรียนเสียไปไหม แยกตัวออกไปจากกลุ่มหรือเปล่า หรือมีพฤติกรรมหมกมุ่นอยู่กับอะไรหรือเปล่า และตักเตือนให้เขารู้จักเตือนตัวเองและควบคุมตัวเอง ในการเสพสื่อที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะเข้ามายั่วยุและในทางชวนเชื่อ สามารถครอบงำกลุ่มเด็กและวัยรุ่นได้ง่าย เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่เท่าทันสื่อ วิจารณญาณยังไม่ค่อยดี มีการป้องกันตัวเองได้น้อย มีวิธีการปฎิเสธผู้อื่นได้น้อย มีความอยากรู้อยากลองค่อนข้างมาก

          ดังนั้น คนรอบข้างก็ต้องช่วยกันระมัดระวัง สื่อเองหรือผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสื่อก็ควรพูดถึงการเล่นกีฬาฟุตบอลอย่าง สร้างสรรค์ เลือกส่งเสริมในด้านของการเล่นกีฬาเพื่อจะเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียง การเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ การเล่นกีฬาเพื่อฝึกฝนการมีวินัยในตัวเองและการเคารพในผู้อื่น มากกว่าที่จะนำเสนอในเชิงการพนันว่าทีมใครจะชนะทีมใดจะแพ้ เพื่อให้คนหันมาเล่นกีฬาเพิ่มมากขึ้น

          ส่วนในกรณีที่พบว่าลูกหลานมีพฤติกรรมติดพนันบอล แล้ว นายแพทย์วศิน บำรุงชีพ ได้ให้แนวทางในการช่วยเหลือก่อนจะสายเกินไปว่า อันดับ แรกต้องสื่อสารให้เขาตระหนักรู้ว่าตัวเองมีความผิดปกติ และมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาและพบแพทย์ก่อนจะมีปัญหาร้ายแรง ขณะเดียวกันก็ควรจะต้องให้การดูแลด้านจิตใจและสังคมให้เขาเป็นพิเศษ โดยหากิจกรรมช่วยให้เขาได้ระบายความเครียด ความก้าวร้าวในตัวเองออกไป

          ซึ่งวิธีที่ดีและได้ผลก็คือ การให้เล่นกีฬา เพื่อให้เขาได้ออกกำลังกายมากๆ รวมถึงการจัดตารางเวลาการตื่นนอน การดูทีวีอย่างเหมาะสม ไม่ให้ถือเงินโดยตรง ซึ่งพ่อแม่ครูต้องให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือ โดยจะต้องติดตามผล ว่าเขามีปัญหาทางด้านอารมณ์ไหม ในรายที่ไม่ได้เล่นการพนัน แล้วมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้า ต้องรีบปรึกษาแพทย์


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น