กรมควบคุมโรคแนะระวังโรคจากน้ำท่วม



นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเกิดอุทกภัยได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การจมน้ำ บาดเจ็บ สัตว์มีพิษกัด และบาดแผลติดเชื้อ หอบหืดเฉียบพลัน น้ำกัดเท้าและผื่นคัน และจากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดการระบาด ของโรคติดต่อทั้งในระยะที่เกิด น้ำท่วมและภายหลังน้ำท่วม โดยโรคติดต่อที่มักจะระบาดในระยะที่เกิดน้ำท่วมคือโรคทางเดินอาหารและโรค หวัด โรคตาแดง และระยะหลังน้ำท่วมโรคติดต่อที่ระบาดคือโรคติดต่อนำโดยแมลง โรคเลปโตสไปโรซิส โรคไข้เลือดออก โรคหัด และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจพบการระบาดของโรคเหล่านี้ภายหลังน้ำท่วมนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยพบว่าโรคเลปโตสไปโรซิสและโรคตาแดงจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง ของการเกิดอุทกภัย

ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้ตั้งระบบเฝ้าระวังโรคในภาวะอุทกภัยขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทราบความรุนแรงของปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนใน พื้นที่เกิดอุทกภัย สามารถตรวจสอบการระบาดและติดตามแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่สำคัญ เพื่อเตรียมการป้องกันควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและเหมาะสม มีความยืดหยุ่น และเฉพาะเจาะจงสำหรับเหตุการณ์และพื้นที่ โดยใช้ 6 กิจกรรมหลักในการเฝ้าระวังโรค ได้แก่ 1.การวินิจฉัย 2.การรายงานผู้ป่วย 3.การยืนยันโรค 4.การวิเคราะห์ข้อมูล 5.การจัดทำรายงาน 6.การส่งกลับรายงาน

และ 4 กิจกรรมสนับสนุน ได้แก่ การสื่อสาร การอบรม การนิเทศงาน และการสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งจะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังโรคที่มีโอกาสเกิดการระบาดขึ้นได้ภายหลังน้ำท่วมเพื่อป้องกัน และบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด

นพ.นานิต กล่าวแนะนำว่า ประชาชนต้องรู้จักป้องกันตนเองเพื่อความปลอดภัยจากโรคต่างๆ ด้วยการไม่ให้สัมผัสกับน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำเป็นเวลานานและควรล้างเท้าหลังย่ำน้ำ หรือหากจำเป็นควรใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ได้แก่ รองเท้าบู๊ต ป้องกันการสัมผัสน้ำสกปรก ในภาวะน้ำขังอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงวัน ควรกำจัดและลดแหล่งเพาะพันธุ์โดยเก็บขยะเปียกใส่ถุงและรัดปากถุงให้มิดชิด ดูแลสุขาภิบาลเรื่องอาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง และมีอาการตาแดงขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพื่อให้การดูแลรักษาโดยเร็ว หากมีการย่ำน้ำลุยโคลนที่มีน้ำขังต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย มีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7/30/2555 6:58 หลังเที่ยง

    คนที่ไม่รู่เรื่องต้องมารับกรรมที่ไม่ได้ทำเพราะคนเห็นตัว

    ตอบลบ