น้ำท่วมเสี่ยงอหิวาห์จี้อพยพกาชาดขาดแคลนเลือด

สธ.-กทม.ผวาโรคระบาดทางน้ำ สั่งกรมอนามัยแก้น้ำเน่า-ขยะ-สิ่งแวดล้อม วอนอพยพพ้นพื้นที่น้ำท่วม ชี้เสี่ยงเป็นอหิวาตกโรค สภากาชาดไทยขาดแคลนเลือด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใน ฐานะกำกับดูแลสำนักการแพทย์ กทม. แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขาภิบาล ที่ขณะนี้มีขยะตกค้างในพื้นที่น้ำท่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เขตบางพลัดมีการเก็บขยะไปแล้ว 33 ตัน ส่วนขยะปฏิกูล กทม.ได้แจกถุงดำให้ประชาชนไว้ขับถ่าย และนำมาทิ้งที่ถังขยะปฏิกูลที่กทม.จัดวางไว้
ส่วนปัญหาสภาพน้ำเน่า กทม.ได้นำผงแบคทีเรีย หรือ EM (Effective Microorganisms) ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ นำไปโรยบริเวณที่มีน้ำเน่า เพื่อปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันได้ตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในเขตบางพลัด บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 ส่วนในเขตทวีวัฒนา ในบริเวณสมาคมชาวปักษ์ใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายยาให้กับผู้ประสบภัย

"ขณะนี้ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่อพยพออกจากพื้นที่ จากที่กทม.ได้ประกาศให้ 7 เขตเป็นพื้นที่อพยพ โดยเฉพาะเขตบางพลัดยังมีประชาชนอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก หากประชาชนในเขตต่างๆยังตัดสินใจอยู่ในพื้นที่ต่อไป อาจมีความเสี่ยงกับโรคระบาดที่มาทางน้ำ ได้แก่ โรคตาแดง ท้องเดิน ไข้หวัด และไข้เลือดออก ซึ่งโรคที่น่ากลัวที่สุดคือโรคอหิวาตกโรค เพราะจะนำไปสู่ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอหิวาตกโรคจะติดต่อจากทางอาหารและน้ำดื่ม ดังนั้นขอให้ประชาชนคิดให้มากๆในเรื่องอพยพ เพราะหากติดโรคแล้วอาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และเมื่อนั้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้นตามไปด้วย" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

วันเดียวกัน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมหรือวิดีโอยคอนเฟอ เรนซ์ กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่า การประชุมวันนี้ยังคงเน้นย้ำเรื่องการรับมือเช่นเดิม คือ ขอให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเตรียมพร้อมในทุกด้าน ทั้งเรื่องการป้องกันน้ำหลากเข้าท่วม การสำรองยาและเวชภัณฑ์ และการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้ปลอดภัย รวมทั้งการฟื้นโครงการผลิตน้ำเกลือใช้เอง เนื่องจากคาดว่าน้ำเกลืออาจขาดตลาด โดยเฉพาะสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่เพิ่งเริ่มท่วม คือ จ.นครปฐม และจ.สมุทรสาคร ได้มีการประสานเรื่องการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งนี้เชื่อว่าหากน้ำท่วมไม่เกิน 50 ซม. จะสามารถรับมือได้

รมว.สาธารณสุขกล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอของบประมาณส่วนกลางเพื่อดำเนินการแก้ไข ปัญหาและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมไปแล้ว 109 ล้านบาท ทราบว่างบประมาณจะจัดสรรมาถึงในวันที่ 2 พฤศจิกายนจึงอยากให้กรมต่างๆดำเนินงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การแก้ปัญหาและติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกรมอนามัยอยากให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำเน่า และจัดการขยะ รวมถึงอนามัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในศูนย์พักพิงและพื้นที่น้ำท่วมขังด้วย เพราะเกรงว่าจะเกิดโรคระบาด เช่น ไข้เลือดออก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ที่เป็นชุมชนซึ่งมีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น หากเป็นพื้นที่ท่วมขังอาจเสี่ยงต่อการเกิดพาหะนำโรค

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสำรองยาและเวชภัณฑ์ วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เตรียมหารือกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า จำเป็นต้องนำเข้ายาและเวชภัณฑ์เพิ่มหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้จะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังภูมิภาคเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องกระจายยาและเวชภัณฑ์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทุกแห่งอย่าเพิ่งกักตุนยาให้มากนัก หากมีเพียงพอก็ขอความร่วมมือในการสนับสนุนก่อนเพื่อจะได้อำนวยความสะดวกใน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

ด้าน พญ.สร้อยสอางค์ สร้อยพิกุดสด ผู้อำนวนการกองบริจาคโลหิต สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้สภากาชาดไทยประสบปัญหาขาดแคลนเลือดที่ประชาชนบริจาค เนื่องจาก 2 สาเหตุหลักคือ 1. ในช่วงเดือนตุลาคม นิสิต นักศึกษาที่เป็นผู้บริจาคส่วนใหญ่ปิดเทอม ทำให้การบริจาคเลือดจากคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลง และ 2.สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ผู้บริจารไม่สามารถเดินทางมาบริจาคเลือดได้ เหมือนเดิม  อีกทั้งก่องบริจาคโลหิตที่มีหน่วยออกไปรับบริจาคไม่สามารถเข้าไปรับบริจาคได้

ศ.คลินิก พ.ธีระวัฒน์ กุลทันทน์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในที่ประชุมหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รพ.ศิริราช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้วางแผนเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและบุคลากร โดยมีผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือมาร่วมชี้แจงการเคลื่อนย้าย หากสถานการณ์น้ำสูง 1 เมตร จะย้ายทางเรือ ทั้งหมด  4 ท่า คือท่าพรานนก ท่าศิริราช ท่ารถไฟ และท่าริมคลองบางกอกน้อย ไปยัง รพ.ศูนย์สิริกิติ์ รพ.หัวหิน รพ.ราชบุรี รพ.หหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โดยสรุปยอดผู้ป่วยวันนี้ 738 ราย ผู้ป่วยหนัก 352 ราย ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ 98 รายผู้ป่วยธรรมดา 288 ราย
        

ที่มา :หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น