'17 มาตรการ' ป้องกันอันตรายจากภัยน้ำท่วม

กรมควบคุมโรคแนะ "17 มาตรการ" ป้องกันอันตรายจากภัยน้ำท่วม ระบุสาเหตุส่วนใหญ่ของการจมน้ำเกิดจากการหมดแรงหรือการได้รับอุบัติเหตุ ชนกระทบกระแทกกับวัตถุ...

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่วิกฤติหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ ส่งผลให้ประชาชนประสบความเดือดร้อนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม และความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งอันตรายจากภัยสุขภาพจากน้ำ เช่น การตกจมน้ำ ไฟฟ้าช๊อต สัตว์มีพิษอันตราย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการจมน้ำเกิดจากการหมดแรงหรือการได้รับอุบัติเหตุ ชนกระทบกระแทกกับวัตถุ
ขณะที่มีการจมน้ำระยะแรกผู้จมน้ำจะพยายามหายใจเอาอากาศเข้าไปให้มากที่ สุด แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการสำลักน้ำเข้าไปในปอด หลังจากนั้นเกิดอาการหมดสติ ชักเกร็ง และหัวใจหยุดเต้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตผู้ประสบภัยช่วงนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สำคัญช่วงน้ำท่วมที่พบการเสียชีวิตและบาดเจ็บของ ประชาชนจำนวนมากเช่นกัน คือ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าดูด หรืออาจจะถูกเรียกอีกอย่างว่าไฟช๊อต ที่เป็นภาวะที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายมีผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง จนไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้ ปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายส่งผลทำให้เสียชีวิต หรือพิการ การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมจึง มีความเสี่ยงหลายประการจากจากภัยอันตรายต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมของผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความปลอดภัย จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

เภสัชกรเชิดเกียรติ เผยคำแนะนำมาตรการจำเป็น 17 ประการเพื่อการป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วม ดังนี้ 

1) หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำควรเตรียมตัวอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม หรือนำอุปกรณ์ประยุกต์ที่หาง่ายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา
2) ให้ระวังเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดพาหรือตกลงในบ่อน้ำลึกได้
3) อย่าพยามยามวิ่งหรือขับรถผ่านในที่มีน้ำไหลเชี่ยว
4) ควรงดการดื่มสุรา เนื่องจากทำให้ทรงตัวไม่ดีเพิ่มโอกาสลื่นล้ม พลัดตกจมน้ำ หรือ งดตัดสินใจทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น กระโดดจากสะพานลงเล่นน้ำ
5) ให้ตัดสวิทซ์กระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดหรือช็อต ขณะเกิดน้ำท่วมขัง
6) เก็บของมีค่าและจำเป็นขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม
7) จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น น้ำดื่ม ไฟฉาย ยารักษาโรคพื้นฐาน ยาโรคประจำตัว และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ
8) อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูด เน่าเสีย อาหารเป็นพิษได้ หากมีเหลือควรทิ้งใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง
9) ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังออกจากห้องน้ำ ห้องส้วมทุกครั้ง
10) ไม่ควรใช้มือขยี้ตาอาจทำให้ตาติดเชื้อ และอาจเสี่ยงเป็นโรคตาแดงได้
11) ในกรณีที่มีบาดแผล ไม่ควรเดินลุยย่ำน้ำ ย่ำโคลน ควรใส่รองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกยาวป้องกันเท้าและสวมทับด้วยถุงเท้าและ รองเท้า แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำน้ำเสร็จแล้วควรทำความสะอาดเท้าและแผลแล้วเช็ดให้แห้ง
12) กรณีมีสัตว์ป่วยตาย ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วผูกให้มิดชิด หรือนำไปฝัง เผา ไม่ควรนำทิ้งลงน้ำอาจทำให้แพร่เชื้อในกระแสน้ำเกิดโรคระบาดได้
13) ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้ชิดเพราะอาจติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้
14) สำรวจภาชนะที่มีน้ำขังให้คว่ำไว้ เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพาหนะโรคไข้เลือดออก
15) ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ และดื่มน้ำสะอาด
16) ทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้มิดชิดห้ามทิ้งลงน้ำ และสุดท้าย
17) ให้ระมัดระวังสัตว์มีพิษ กัด ต่อย พร้อมทั้งหมั่นสำรวจตรวจตราบ้าน กองผ้า ถุงใส่ของ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษหลบเข้าไปอยู่อาศัยใกล้ตัว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น