ชายรักชายเสี่ยง "มะเร็งทวารหนัก" 40 เท่า

ชายรักชายเสี่ยง “มะเร็งรูตูด” หนักกว่าคนทั่วไป 40 เท่า เชื้อไวรัสเอชพีวีตัวเดียวกับมะเร็งปากมดลูกในหญิง แนะชายตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ในงานสัมมนาวิชาการการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วย เอดส์ระดับประเทศ ครั้งที่ 3 จัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข
โดย พญ.นิตยา ภานุภาค แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวในการเวิร์กช็อปถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องเริ่มตรวจมะเร็งปากทวาร หนัก (Anal Pap Smear) ว่า จากการศึกษาสถานการณ์ของคลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เกี่ยวกับสถานการณ์ความนิยมเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากทวารหนักในกลุ่มชายรักชาย (MSM) และเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง มีประมาณร้อยละ 30 ขณะที่กลุ่มหญิงรักชายมีประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น
“การตรวจคัดกรองทางคลินิกจะบริการตรวจพร้อมๆ กับเชื้อเอชไอวี จากการศึกษาในกลุ่มชายรักชายเกือบ 250 ราย ทั้งผู้ที่ติดเอชไอวีและไม่ติดเชื้อเอชไอวี พบว่า ร้อยละ 10-15 มีเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปากทวารหนัก โดยกลุ่มดังกล่าวไม่มีอาการป่วย ส่วนอุบัติการณ์มะเร็งปากทวารหนักในประเทศไทยยังไม่มีสถิติที่แน่นอน แต่อัตราการป่วยทั่วโลกพบว่า ในคนทั่วไปมีอัตราการป่วยแค่ 1 ต่อแสนประชากร แต่ในกลุ่มชายรักชายอัตราการป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 40 เท่า คือป่วย 40 รายต่อแสนประชากร ขณะที่กลุ่มชายรักชายซึ่งติดเชื้อเอชไอวีจะมีอัตราการป่วยอยู่ที่ 80 รายต่อแสนประชากร หมายความว่าอัตราเสี่ยงของผู้ป่วยเอชไอวีจะสูงที่สุด จึงต้องเร่งตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหารอยโรคได้ทันและง่ายต่อการรักษา“พญ.นิตยากล่าว
พญ.นิตยา กล่าวอีกว่า วิธีการตรวจคัดกรอง คือ วิธี Anal Pap Smear คือ การป้ายเอาเยื่อในช่องรูทวารลึกลงไปราว 2 ซม.แล้วมาส่องกล้องหาเชื้อ หากพบเชื้อก่อนมะเร็ง สามารถรักษาด้วยการจี้เลเซอร์ จี้ไฟฟ้า และจี้เย็น เพราะการลุกลามของเชื้อนั้นยาวนานไม่ต่างกันกับมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยใน เพศหญิง แต่มะเร็งปากทวารหนักสามารถเกิดได้ทั้งหญิงและชาย สาเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์ทางรูทวาร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ จะเร่งศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่าเดิม เพื่อจะได้รู้ถึงอุบัติการณ์ของโรคที่ชัดเจน ก่อนจะเสนอแนวทางในการตรวจคัดกรองแก่ สธ.ต่อไป เพื่อเตรียมรับมือรักษาโรคดังกล่าว

ที่มา : สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น