เตือนภัย!เลือกเนื้อสัตว์ สารพัดกลยุทธ์ใส่สารพิษคงความสด


ใครจะเชื่อ คนไทยด้วยกัน ทำร้ายกันด้วยการใส่ของที่ไม่ควรกินให้คนกิน!!!

ประเด็นข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง ไก่ เนื้อสัตว์ชนิดโปรดของใครต่อหลายคน ที่นิยมนำมาปรุงอาหารในหลากรูปแบบ ทั้งไก่ทอด ไก่ปิ้ง ไก่ย่าง ต้มข่าไก่ แถมยังแปรรูปเป็นไส้กรอก เป็นลูกชิ้น อาหารมื้อว่างของคนอยากอิ่มเบา ที่พ่อค้าหัวใสลักลอบนำซากไก่ตายที่รับซื้อจากฟาร์มหลายแห่งในราคาตัวละ 3 บาท มาชำแหละไปจำหน่าย แถมยังแช่ฟอร์มาลินหรือน้ำยาดองศพในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ผสมดินประสิวเพิ่มสีสันให้ไก่เนื้อแดงอีกด้วย



ไม่น่ายกย่องความช่างคิดของคนทำ แต่น่ารังเกียจมากกว่าที่ทำร้ายคนบริโภคด้วยกันเอง...

เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยา ศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี และผู้รับผิดชอบโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจในท้องตลาดพบว่า ฟอร์มาลิน มักถูกนำมาใช้ในการถนอมอาหารประเภทอาหารทะเล หรือแม้แต่ผ้าขี้ริ้ววัว ที่ปกติมีสีคล้ำ แต่เมื่อใส่ฟอร์มาลินผสมไป ก็เหมือนเป็นการฟอกขาวให้ผ้าขี้ริ้วมีสีขาวสวยน่ารับประทานขึ้น แต่สำหรับการผสมในเนื้อไก่นั้นเพิ่งเคยพบ ซึ่งอันตรายจากฟอร์มาลินหากเข้าตา จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองตาเพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงมาก หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ทำลายระบบทางเดินอาหาร และหากได้รับเข้าสู่ร่างกายในจำนวนมาก จะส่งผลต่อระบบไต ระบบขับถ่ายปัสสาวะ เป็นต้น และแม้จะใช้ความร้อนในการปรุงสุกอาหาร ก็ไม่สามารถล้างสารพิษจากฟอร์มาลินได้

นอกจาก “ฟอร์มาลิน” ต้นเหตุสำคัญของการดองไก่ก็ว่าได้ ผู้ประกอบการยังผสมดินประสิวเพื่อทำให้ไก่มีสีสด โดยดินประสิวหรือโพแทสเซียมไนเตรต ที่ทางภาคเหนือนั้นจะขาว นำมาเป็นส่วนผสมของดอกไม้เพลิง ใช้ทำดินปืน ทำดอกไม้เพลิง หรือใช้ใส่อาหารหมักดอง เช่น กปลาร้า ปลาเจ่า แหนม เรื่องนี้ เภสัชกร วรวิทย์ บอกว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อนุญาตให้ผสมในอาหารได้ในปริมาณที่กำหนด คือ ใช้ไนเตรทได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม และไนไตรท์ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารบูดเน่า ช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อคลอสตริเดียม โบทูไลนัม หรือเพื่อรักษาสีของเนื้อสัตว์ให้ดูใหม่สดนั่นเอง

ขณะที่ฟอร์มาลินนั้นห้ามผสมในอาหารอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ หากผสมดินประสิวในปริมาณที่ สธ.กำหนด ร่างกายสามารถขับถ่ายออกมาได้เอง แต่หากได้รับในปริมาณมากก็จะส่งผลต่อร่างกายเช่นกัน โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีผลต่อเม็ดเลือดแดงในร่างกาย ดัง นั้น การเลือกซื้อไก่รับประทาน ควรเลือกดูลักษณะความสดของไก่ เนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นเหม็น และเลือกซื้อในสถานที่สะอาด และปลอดภัย อย่างเช่น ในตลาดสดน่าซื้อ ตามที่ สธ.จัดทำประกาศรับรองไว้ก็ได้

เภสัชกร วรวิทย์ บอกอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันนั้น อยากให้เกิดขึ้นในระยะยาว หลายเรื่องหากรอให้ภาคราชการดูแลอย่างเดียวคงจะลำบาก ดังนั้นชุมชน-ผู้บริโภคเองต้องมีความเข้มแข็ง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล หากพบสิ่งผิดปกติก็ควรแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น เพราะหากชุมชนเข้มแข็งก็จะถือเป็นเกราะป้องกันในพื้นที่ได้ดีอีกชั้นหนึ่ง ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งกระบวนการการให้ความรู้ต่อประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคงานวิจัย ก็ต้องมีการศึกษา สำรวจ และจัดทำชุดความรู้ให้แก่ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้เอง

“หลายเรื่องที่เป็นประเด็นขึ้นมา เป็นเรื่องที่ประชาชนเป็นฝ่ายเรียกร้องให้หันมาดูแล ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง เพราะชุมชนจะดูแลครอบคลุมในพื้นที่ที่ขนาดพอเหมาะ ก็ถือเป็นอีกทางหนึ่งในหลักประกันระยะยาว ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจสิทธิคุ้มครองตนเอง หากคนในพื้นที่พบเห็นอะไรผิดปกติ ก็ควรแจ้งมาที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการผลักภาระแก่ผู้บริโภค แต่นับเป็นมาตรการระยะยาวได้ ยกตัวอย่างผมดูงานวิจัย ที่ผ่านมาก็พยายามทำงานวิจัยชุดความรู้ อย่างกรณีดินประสิว ที่ผสมในปลาส้ม จากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ผมลงสำรวจในพื้นที่ภาคอีสานก็พบเกือบ 20 เท่าก็มี ซึ่งก็ต้องช่วยเหลือให้ความรู้แก่ชาวบ้าน แนะนำให้ใช้ปลาส้ม 10 กิโลกรัม ผสมสารดินประสิวเพียง 10 กรัม ไม่ส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยน หรือสีก็ยังสวยน่ารับประทาน สารก็ตกค้างอยู่ไม่ถึง 4 มิลลิกรัมด้วยซ้ำ เป็นต้น เภสัชกร วรวิทย์กล่าว

ปัจจุบันนี้โลกวันนี้เปลี่ยนแปลง ไปมาก ผู้ค้า ผู้ขายต่างแก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อเม็ดเงิน หวังแต่ประโยชน์ส่วนตน ไร้การคำนึงถึงส่วนรวม กระทบถึงสุขภาพผู้บริโภค ดังนั้น คงเป็นอย่างที่เภสัชกรวรวิทย์แนะนำไว้ว่า เราทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพราะไม่ใช่หน้าที่ใครจะดูแล ถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น