โรคข้อเข่าเสื่อมและกระดูกพรุน

โรคข้อเข่าเสื่อมนี้เกิดจากการเสื่อมตามอายุขัยส่วนใหญ่ เกิดกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่าและข้อกระดูกสันหลัง

สาเหตุ
ปัญหา ปวดเข่าพบได้มากในผู้สูงอายุหญิงมากกว่าชาย เนื่องจากขนบธรรมเนียมไทยที่ต้องนั่งคุกเข่าพับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งเป็นท่าที่ทำให้ข้อเข่าถูกกดพับ และเอ็นกล้ามเนื้อถูกยึดมาก การนั่งเช่นนั้นนานๆ ทำให้การหมุนเวียนของเลือดไปเลี้ยงเข่าไม่ได้ดี และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย อีกทั้งต้องทำงานหนักไม่มีการพัก ประกอบกับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เข่าต้องแบกน้ำหนักส่วนเกินนั้น กล้ามเนื้อจึงหย่อนสมรรถภาพลง จึงทำให้เป็นโรคเข่าเสื่อมได้ง่าย


อาการเริ่มแรกที่เตือนให้รู้ว่าเข่ากำลังมีปัญหา
เจ็บปวด เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาจเป็นปวดแบบเมื่อยๆ พอทน ปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือในรายที่เข่าได้รับบาดเจ็บ จะปวดแบบเฉียบพลันและปวดรุนแรง
เข่าบวม เข่าที่บวมทันทีภายหลังจากได้รับบาดเจ็บ มักเกิดจากมีเลือดออกภายในข้อเข่า บวมที่เกิดขึ้นช้าๆ มักเกิดจากมีความผิดปกติขององค์ประกอบภายในข้อเอง
เข่าอ่อนหรือเข่าสะดุดติด อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดจากมีบางสิ่งบางอย่างภายในข้อ ทำให้งอ หรือเหยียดเข่าในทันทีทันใดไม่ได้ เช่น เส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนที่ฉีกขาด หรือเศษกระดูกที่หยุดอยู่ในข้อ
เข่าฝืดหรือยึดติด อาจเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน เช่น ตอนเช้าหลังตื่นนอน นั่งนานๆ แล้วลุกขึ้น หรือเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า
เมื่อ ปรากฎอาการดังกล่าวแล้วแสดงว่า ท่านเริ่มมีปัญหาของข้อเข่า ควรให้ความสนใจอย่างจริงจัง และพิจารณาดูว่า มีอะไรเป็นสาเหตุดังกล่าว จะเป็นต้องเริ่มต้นฝึกออกำลังกล้ามเนื้อของข้อเข่าให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะให้หลักประกันได้ว่า ท่านจะสามารถยืนและเดินอยู่บนขา และเข่าของตนเองได้ตลอดไป


วิธีป้องกันและการปฏิบัติ
- ควบคุมไม่ให้อ้วนเกินไป โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
- บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อนั้นให้แข็งแรง (วิธีการบริหารดูในการออกกำลังกาย)
- ลดการใช้งานข้อนั้นในท่าที่ผิดจากธรรมชาติ เช่น การนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ คุกเข่าและการนั่งขัดสมาธินานเกินไป เป็นต้น
- ขณะที่มีอาการปวด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การรักษาภาวะอักเสบของข้อ แล้วเริ่มทำกายภาพบำบัดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

โรคกระดูกพรุน (osteoporosis)
เป็น โรคที่พบได้ในผู้สูงอายุทุกคน เป็นภาวะที่มีการกร่อนของเนื้อกระดูก เนื่องจากมีความผิดปกติในการสร้างสารเนื้อกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนตัวลง สาเหตุที่สำคัญอันหนึ่ง คือ การทำงานของฮอร์โมนที่ลดลงในผู้สูงอายุ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การเคลื่อนไหวลดลง ภาวะกระดูนทรุดยุบมีอาการ การเคลื่อนไหวลดลง ปวดหลัง หลังค่อมทำให้ความสูงลดลง กระดูกหักง่าย แม้มีอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย

การป้องกัน
  • ออกกำลังกายเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะกลางแจ้ง ตอนที่มีแดดอ่อนๆ เช่น เวลาเช้าหรือเย็น
  • เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรรีบทำกายภาพบำบัด หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้เร็วที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง วิตามินดีสูง เช่น ปลากระป๋อง ซึ่งสามารถรับประทาน, กระดูกปลาได้ นมพร่องไขมันเนย ผักผลไม้ เป็นต้น
  • งดการดื่มสุรา และสูบบุหรี่
  • ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาลูกกลอน เพราะมักจะมีสารพวกสเตียรอยด์ผสมอยู่ทำให้กระดูกพรุนได้
อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ
อาการ ปวดมาจากข้อต่อ บางคนจะบ่นปวดหลัง ปวดน่อง ปวดส้นเท้า ปวดคอ อาการปวดนี้เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย สาเหตุของการปวดเมื่อยที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะในการเคลื่อนไหวของร่างกายแบ่ง ได้เป็น 5 พวกใหญ่ๆ ประกอบด้วย


อาการปวดเมื่อยที่พบบ่อย
  1. ปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ จะแสดงออกด้วยอาการปวดเมื่อย เมื่อยล้ามักจะบอกตำแหน่งที่ปวดไม่ค่อยชัดเจน
  2. ปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากเส้นเอ็น อาการปวดจากเส้นเอ็นจะเป็นการปวดเฉพาะที่ปวดมากเวลาถูกกดและเมื่อมีอาการ เคลื่อนไหว พบบ่อยบริเวณไหล่ ส้นเท้า บริเวณมือและบริเวณเอ็นร้อยหวาย
  3. ปวดเมื่อยสาเหตุจากเส้นประสาท สาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดถูกทับ ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน และร้าวไปตามเส้นประสาทส่วนนั้น มักจะมีอาการชาร่วมอยู่ด้วย พบบ่อยที่บริเวณหลังมีการถูกกดของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าวจากหลังไปบริเวณน่องและปลายเท้าอีกตำแหน่งหนึ่งคือ บริเวณคอ เมื่อเส้นประสาทถูกทับจะมีอาการปวดร้าวจากคอไปบริเวณแขนและมือ
  4. ปวดเมื่อยจากเส้นเลือด พบบ่อยจากเส้นเลือดขอดบริเวณขาทำให้มีอาการปวดถ่วงๆ เส้นเลือดขอดจะโป่งออกมา ปวดมากเมื่อยืนนานๆ เมื่อนั่งหรือนอนยกขาสูงขึ้นอาการปวดจะลดลงได้
  5. ปวดจากข้อเป็นอาการที่ปวดจากข้อต่อ พบว่าในบริเวณที่เป็นจะบวมกว่าข้อต่อด้านตรงข้ามที่ปกติ อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการขยับเขยื้อน ถ้าเป็นข้อต่อซึ่งใช้ในการลงน้ำหนัก เมื่อเดินจะปวดมากขึ้น และถ้างอข้อต่อมากอาการจะปวดมากขึ้นตามไปด้วย
อาการ ปวดเมื่อย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แสดงถึงความเสื่อมของข้อต่อกระดูก ตลอดจนเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อ จะพบสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดเมื่อย ดังนี้

สาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดเมื่อย
  1. เริ่มมีการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณรอบๆ ข้อ เช่น ข้อไหล่ แล้วไม่ยอมใช้ไหล่ข้างนั้นๆ นานๆ เพราะกลัวเจ็บ
  2. ยกของหนักเกินไป ในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด หรืออักเสบ ปวดหลัง
  3. ท่านอน เช่น หนุนหมอนสูงเกินไป ที่นอนนิ่มเกินไป นอนตะแคงแล้วศีรษะห้อยลง หรือบิดทำให้ปวดต้นคอ ปวดบริเวณหลัง
  4. การที่ปล่อยตัวให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน ศีรษะ งุ้มไปทางด้านหน้าหรือเงยจนมากเกินไป หรือเอนไปด้านใดด้านหนึ่งนานๆ ทำให้รู้สึกปวดเมื่อย
  5. เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทก หรือหกล้ม อาจจะทำให้กระดูกหัก กล้ามเนื้อฉีกขาดหรือเกิดการอักเสบ ทำให้ปวดเมื่อยได้

การป้องกันและการรักษา
  1. อาการปวดหลัง เกิดจากการทรงตัวอยู่ในลักษณะท่าทางที่ไม่ถูกต้องนานๆ ป้องกันได้โดยวิธีการออกกำลังกายโดยการบริหารร่างกาย และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เช่น ยืนเอวไม่แอ่น หลังไม่ค่อม ศีรษะตั้งตรงไว้เสมอ
  2. อาการปวดเข่า มักจะเป็นกับคนอ้วนที่มีน้ำหนักมาก และคนที่มีลักษณะขาโก่ง ป้องกันได้โดยการลดน้ำหนักตัวและบริเวณข้อเข่า
  3. อาการปวดกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อ กล้ามเนื้อจะขนาดเล็กลง และมีการเคลื่อนไหวน้อยลง หรือเส้นเอ็นขาดได้ง่าย ป้องกันโดยทำให้ข้อมีการเคลื่อนไหว การยึด และกล้ามเนื้อมีการยืดหยุ่นตัวดีจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

การช่วยเหลือตนเองโดยทั่วๆ ไป
1. ให้พักผ่อน หรือหยุดทำงานทันทีเมื่อรู้สึกปวดอย่างเฉียบพลัน
2. ประคบความร้อนบริเวณที่ปวด
3. นวดบริเวณที่ปวดกล้ามเนื้อ
4. ใช้อุปกรณ์ช่วยลดอาการปวด เช่น บริเวณคอใช้ปลอกคอ
5. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
5.1 โดยการจัดทำท่าให้ถูกต้อง
5.2 ให้มีการเคลื่อนไหวของข้อและข้อต่อไว้เสมอ
5.3 หมั่นออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบ และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
6. ถ้าปวดมากให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ที่มา : http://atcloud.com/stories/46898

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น